เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสอนดนตรีวงสหาย(นัก)พัฒนา
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งวงดนตรีขึ้นวงหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นวงที่แปลกมาก เพราะแทนที่สมาชิกในวงจะเป็นผู้ช่ำชองและเชี่ยวชาญในทางดนตรี แต่กลับแทบจะเล่นดนตรีกันไม่เป็นเลย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็น “นักพัฒนา” และข้าราชบริพารในพระองค์แทบทั้งสิ้น
ในช่วงต้นปี ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระประชวรและทรงประทับถวายการอภิบาลอยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อทรงหายประชวรทรงเห็นว่านายแพทย์อาสาสมัครทั้งหลายที่เข้ามาถวายการอภิบาลอยู่เป็นประจำ นักเกษตรหลวง ข้าราชบริพารในพระองค์ ราชองครักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน น่าจะได้เล่นดนตรีโดยเฉพาะพระองค์ทรงสอนให้ จึงได้เตรียมให้เขาเหล่านั้นไปซื้อเครื่องดนตรีมาคนละชิ้น แล้วพระราชทานนามวงดนตรีใหม่นี้ว่า “สหายพัฒนา”

[ทรงฝึกสอนและฝึกซ้อม “นักเรียน” ในวงดนตรี “สหายพัฒนา” ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน]
วงดนตรีสหายพัฒนาเป็นวงแตรวงใช้เครื่องทอเหลือง (brass band) โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระอาจารย์” ทรงฝึกสอนสมาชิกทั้งหลายด้วยพระองค์เอง ทรงเขียนโน้ตและสอนให้อ่าน และฝึกฝนทักษะทางด้านดนตรี จนกระทั่งสมาชิกวงสหายพัฒนาสามารถเล่นดนตรีกันเป็นทุกคนในระยะเวลาอันรวดเร็ว สมาชิกพิเศษของวงนี้คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นทั้ง “นักเรียนหมายเลย ๑” และ “หัวหน้าชั้น” ทรงเล่าถึงที่มาของ “วงสหายพัฒนา” ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ว่า
เมื่อเกือบประมาณ ๒ ปีมาแล้วที่สกลนคร ทรงนำแตรไปด้วย ได้มีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องแตรกับคุณหมอทวีศักดิ์ ซึ่งเล่นแตรในวง อ.ส. เคยเรียนแตรมาหลายปีแล้ว ข้าพเจ้านั่งอยู่พร้อมกับคนอื่นๆ อีกหลายคนคิดอยู่ว่าน่าจะหัดเรียนบ้าง”
“ต่อมาแปรพระราชฐานไปที่จังหวัดนราธิวาส ข้าพเจ้าพยายามไปฟังพระราชกระแสเรื่องแตรนี้อีก คงจะเห็นข้าพเจ้าดูอย่างสนใจ จึงยื่นแตรพระราชทานและสั่งให้ไปยืนเป่าอยู่ไกลๆ เป่าเท่าไหร่เสียงก็ไม่ออก จนในที่สุดออกมาเสียงดัง ‘ปู่’ เป็นเสียงต่ำมาก ทรงพระสรวล รับสั่งว่าเสียงแบบนี้ไม่มีใครเป่ากัน”
“เมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้ว ข้าพเจ้าให้คนไปซื้อแตรทำในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ข้าพเจ้าชอบแตรนี้มาก เพราะซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง) ราคา ๓,๐๐๐ บาท ไปแนะนำให้คนอื่นๆ ที่ตามเสด็จซื้อแตรชนิดต่างๆ มา เมื่อทรงเห็นมีเครื่องดนตรีกัน จึงทรงนึกสนุกสอนให้พวกเราเป่าแตรกัน เริ่มด้วยข้าพเจ้าเป็นนักเรียนหมายเลข ๑ เป็นหัวหน้าชั้น”

[พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “หัวหน้าชั้น” และ “นักเรียนหมายเลข ๑” วงสหายพัฒนา]
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ (อดีตผู้อำนวยการ ที่ปรึกษามูลนิธิพระดาบส และ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข) ผู้ที่โชคดีได้เป็น “ลูกศิษย์คนหนึ่ง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่าไว้ในบทความ “ทรงเป็นครูของแผ่นดิน” ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาสอนวิชาการดนตรีให้แก่ลูกศิษย์ในวงสหายพัฒนา ก่อนที่จะทรงออกกำลังในแต่ละวัน วันละประมาณ ๑ ชั่วโมง
“ผู้ที่ได้รับพระกรุณารับเข้าเป็นลูกศิษย์ในวงดนตรีสหายพัฒนานี้ ส่วนใหญ่มีอายุเกินวัยกลางคน และไม่เคยเรียนดนตรีกันมาแต่ก่อน จึงอ่านโน้ตดนตรีไม่เป็นเลย หากไปสมัครเรียนกับครูดนตรีอื่นๆ คงไม่มีผู้ใดรับเป็นลูกศิษย์ เพราะเข้าลักษณะไม้แก่ที่ค่อนข้างจะดัดยาก”
“ทรงมีความเพียรและอดทนเป็นอย่างสูงที่จะต้องเคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ที่มีคุณลักษณะไม้แก่ดัดยากเหล่านี้ มีหลายคนรวมทั้งผมด้วยได้พยายามหลีกเลี่ยงการเรียนโดยวิธีอ่านโน้ต เพราะยังปักใจที่จะเรียนโดยวิธีการจดจำเสียงที่เขียนแทนด้วยตัวเลข (เช่น เลข 1 แทนสียง “โด” เลข 2 แทนเสียง “เร” เป็นต้น)” หรือใช้วิธีสังเกตพระดรรชนี (นิ้ว) ของพระองค์ท่านในขณะที่ทรงใช้บังคับเสียงแตร หรือนิ้วมือของผู้เข้าร่วมวงอื่นๆ วิธีการเรียนในลักษณะนี้ ได้รับสั่งว่า “ก๊อปปี้นิ้ว” จึงทรงใช้อุบายด้วยการใช้ผ้าซับพระพักตร์ปิดพระดรรชนีในขณะทรงเป่า”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงฝึกสอนลูกศิษย์ในวงดนตรีสหายนักพัฒนาซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓๐ คน อยู่เป็นเวลานานประมาณ ๑ ปี การฝึกซ้อมของวงสหายพัฒนาไม่มีเวลาแน่นอน โดยจะซ้อมและบรรเลงในเวลาที่ว่างตรงกัน แนวเพลงที่บรรเลงมีหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยเดิม เพลงไลต์มิวสิก เพลงแจ๊ส เพลงมาร์ช ฯลฯ อันเป็นแบบเรียนที่นักดนตรีในวงสหายพัฒนาต้องเรียนรู้ ปรากฏว่านักดนตรีวงนี้สามารถบรรเลงได้ทั้งเพลงสากล เพลงไทยเดิม และเพลงพระราชนิพนธ์ สิ่งที่น่าประทับใจคือ ได้ทรงพัฒนาความสามารถของสมาชิกวงสหายพัฒนาจนสามารถบรรเลงดนตรีในโอกาสพิเศษได้ และการได้ร่วมฝึกซ้อมและเล่นดนตรีในวงสหายพัฒนานี้เองก็ได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในหมู่นักพัฒนาอาสาสมัครในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วย

“สุวิชา” ผู้ซึ่งได้มีโอกาสชมการบรรเลงของวงดนตรีสหายพัฒนาโดยบังเอิญเล่าเป็นเกร็ดสนุกๆ ชวนขำขันไว้ในบทความ “พระเกียรติก้องไกลไป”ทั่วหล้า” ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ในวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงกลับจากการเสด็จเยือนพม่า ตนได้เข้าไปเฝ้าฯ รับเสด็จระหว่างรออยู่นั้น
“ก็ได้ยินเสียงดนตรีที่ต้องเรียกว่า abstract jazz เสียงนั้นไปคนละทางสองทาง มีเสียงเครื่องเป่าที่โดดเด่นนำหน้าที่อยู่ในร่องรอยเข้าเรื่องเข้าราวอยู่เสียงเดียว นอกนั้นเป็นเสียงที่เกิดจากความพยายาม เสียงกลองที่เข้าจังหวะบ้าง ไม่เข้าจังหวะบ้าง ผู้ที่นั่งอยู่แถวนั้นทำหน้าเลิกลั่กว่าเกิดอะไรขึ้น ก็มีผู้รู้บอกว่า วงสหายพัฒนามาแล้ว”
ภาพที่ “สุวิชา” ได้เห็นในเวลาต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงทรัมเปตนำขบวนคณะนักดนตรีวงสหายพัฒนา ที่ตั้งหน้าตั้งตาเป่าเครื่องเปล่าและตีกลองอย่างสนุกสนาน ออกมาหยุดอยู่ที่หน้าพระตำหนัก ทันทีที่รถพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล่นมาเทียบ เสียงเพลง “พม่าแทงกบ” ก็ดังขึ้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลงมากราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วทรงคว้าทรัมเปตที่มีผู้เตรียมไว้ถวายขึ้นมาทรงเป่าร่วมวงโดยทันที
ภายหลังวงดนตรี “สหายพัฒนา” พัฒนาฝีมือในการเล่นดนตรี จนกระทั่งไปออกแสดงในงานเสด็จพระราชกุศล ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้คนเป็นอันมาก
เล่าโดยสรุปแล้วก็คือ ด้วยสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชนั้น ทรงเห็นว่า ใครๆ ก็เล่นดนตรีได้ ดนตรีเป็นของทุกคน ที่ทุกคนสามารถจะฝึกหัดและพัฒนาได้โดยความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ดนตรีจึงเป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งช่วยพัฒนาบุคคลในหลายๆ ด้าน ทั้งจิตใจ ความสร้างสรรค์ ปัญญา และอารมณ์ ตลอดจนด้านอื่นๆ อีกมากมายเป็นอเนกประการ พระองค์ท่านจึงทรงใช้ดนตรีเป็นอีกหนึ่งที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารและพัฒนาในแง่มุมต่างๆ ดังจะเห็นได้จากพระบาทราโชวาทครั้งหนึ่งดังว่า
“ ... การดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความปีติ ความสุข ความยินดี ความพอใจได้มาก หน้าที่ของนักดนตรีนั้น คือทำให้ผู้ฟังเกิดความพอใจ ความสุข ความครึกครื้น ความอดทน ความขยัน มีความเข้มแข็ง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือนอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว ควรแสดงในสิ่งที่จะเป็นทางสร้างสรรค์ เช่นชักนำให้เป็นคนดีด้วย ...”
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เอกสารอ้างอิง
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (๒๕๕๔). อัครศิลปินแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ.
อริยา จินตพานิชการ (๒๕๔๖). ร้อยเรื่องในรอยจำ. กรุงเทพฯ กันตนา พับลิชชิ่ง.
เอื้อเฟื้อภาพถ่ายหายาก พิสาข์ ไวความดี
