เรกเก้สกาหายไปไหน? ใครคิดถึงก็เร่เข้ามา
เชื่อว่าคนฟังเพลงหรือนักท่องราตรีหลายคน คงจะพอจำกันได้กับปรากฏการณ์ขนาดย่อมๆ ในรอบราว 10 ปีที่ผ่านมา ที่วันดีคืนดีวงดนตรีแนวเรกเก้สกาในบ้านเราก็ผุดตัวขึ้นมาอย่างคับคั่งเป็นดอกเห็ด จากที่มีผู้ฟังเพียงกลุ่มย่อย กลายมาเป็นมหกรรมสัมผัสความโจ๊ะระดับประเทศที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกชั้น ก่อนจะสร่างซาไปในเวลาไม่นานนัก ทิ้งไว้เพียงเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ราวกับโดนไม้ฟาดหัวแล้วคนตีก็วิ่งหนีไปเลยว่า “มันเกิดอะไรขึ้นวะ?”
ถ้าถามผม ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันครับ (อ้าว!) เพราะตัวเองก็ไม่ใช่นักดนตรี หรือแม้กระทั่งคลุกคลีกับวงการเพลงเรกเก้สกาหรือก็เปล่า แต่ในฐานะที่เป็นลูกค้าประจำร้าน Brick Bar ผับสุดโจ๊ะแห่งถนนข้าวสารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อันเป็นสถานที่ที่ผมเชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ดังกล่าว และตัวเองก็ซึมซับความ “ฮิคๆๆๆ” จนเคยเป็นสักขีพยานในการที่เพื่อนมีผัวเป็นนักดนตรีเรกเก้สกาเพราะไปเที่ยวด้วยกันบ่อยก็เกิดขึ้นมาแล้ว จึงขอลองเลือก 3 เพลงตัวท็อปที่ทำให้คนไทยรู้จักเรกเก้สกามาพูดถึงกันในวันนี้...
1. ดูเธอทำ - จ๊อบ บรรจบ พลอินทร์
บทเพลงทูตวัฒนธรรมที่ในยุคหนึ่ง แทบไม่มีฝรั่งคนไหนที่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วจะร้องไม่ได้ กับงานเพลงชวนยึกยักที่ว่าด้วยความเซ็งของชายหนุ่มที่ถูกคนรักทิ้งไป แถมยังหอบข้าวของเครื่องใช้ไปเกือบหมดอีกด้วย ซึ่งด้วยท่อนฮุค “ดู ดู๊ ดู ดูเธอทำ ทำไมถึงทำกับฉันได้” ที่ร้องตามง่ายแถมติดหู กลายเป็นท่อนที่ทำให้เพลงนี้โด่งดังไปในระดับที่ถูกซื้อไปใช้ในโฆษณารังนกยี่ห้อหนึ่ง กลายเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับแนวเพลงแบบนี้ต่อไทยพีเพิ่ลไปในบัดดล
2. Play Girl - ส้ม อมรา ศิริพงษ์
กลายเป็นเพลงประจำตัวสาวนักเที่ยวไปในทันทีที่ถูกปล่อยออกมาสำหรับเพลง ‘Play Girl’ ที่หลายคนจำชื่อเพลงกันไม่ได้ แต่เพียงแค่ขึ้นท่อน “ก็ฉันชอบเที่ยวมันผิดหรือไง” ก็ร้องตามต่อสบายยันจบเพลงกันเลยทีนี้ อันนี้ต้องจัดว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่านับถือมากในการแต่งเนื้อเพลงที่โฟกัสกลุ่มผู้ฟังได้อย่างชัดเจนสุดๆ เจาะลึกความรู้สึกที่อยากระบายของคนชอบเที่ยวออกมาได้ตรงมากๆ อีกทั้งยังมีความยียวนเบาๆ จนเห็นผลจริงแม้ในวันนั้นคุณไม่ได้กำลังเรียนดนตรีอยู่ที่ทองหล่อก็ตาม
3. Sky Variety - Mocca Garden
หากจะว่ากันด้วยเพลงเรกเก้สกาในยุครุ่งเรือง เพลงนี้จัดเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เด็ดขาด เพราะในคืนวันที่ผู้คนกำลังฮือฮาว่าแนวเพลงสนุกๆ เคล้าเสียงเครื่องเป่านี่มันคืออะไรกันแน่ เพลงนี้ก็ออกมาพูดแทนความคิดได้อย่างทันท่วงทีว่า “เอ๊ะนี่เพลงอะไรบางคนฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้มันมาจากไหนไม่รู้ว่าใครเอามันเข้ามา บางคนก็เรียกเรกเก้ บางคนก็เรียกสกา กระโดดฉีกแข้งฉีกขาเขาเรียกสกาหรือว่าเรกเก้” ซึ่งแม้สุดท้ายจะไม่สรุปเสียทีว่าตกลงมันต้องเรียกว่าอะไร แต่เพลงนี้ของวง Mocca Garden (อดีตเดิมเคยใช้ชื่อว่า OK Mocca) ได้ถือเป็นหนึ่งในหมุดไมล์สำคัญ เมื่อมันฮิตตลาดแตกไปจนถึงขั้นที่จู่ๆ ก็ได้ถูกเปิดในสถานีวิทยุเพลงลูกทุ่ง! จนกลายเป็นการพังทลายกรอบของเพลงสกาที่มีคนฟังเพียงกลุ่มเล็กๆ ไปอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับเพลงลูกทุ่งที่อาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีคนฟังมากที่สุดในประเทศอย่างน่าตื่นตะลึง
อันที่จริง ยังมีเพลงอีกหลายเพลงและวงอีกหลายวงที่ร่วมบรรยากาศและรันวงการในช่วงเวลานั้นที่เราอยากแนะนำให้ฟังอีกมาก ตั้งแต่เรกเก้คลาสสิคที่ถูกรื้อหิ้งกลับมาฮิตกันใหม่อย่างวง T-Bone (กอด, กลิ่น, แรงดึงดูด, โต๋ล่งตง), วงระดับ ‘ตัวท็อป’ แห่ง Brick Bar อย่าง Teddy Ska (Eyes Flyer, สารเคมี), วงอย่าง Deep ‘O’ Sea เจ้าของเพลง ‘เกาะสมุย’ ที่ทำให้ทุกคนต้องไปตามรอยว่าที่เกาะสมุยมันมีอะไรกันแน่ หรือแม้แต่วงทะโมน ที่นำเอาเพลงฮิตติดหูในอดีตอย่าง ‘บีบมือ’ มาคัฟเวอร์ให้เป็นเพลงสกาสนุกๆ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการโกคลื่นลูกทุ่งของ Ska Variety ดูเหมือนจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจวบจนมาถึงทุกวันนี้ วันที่เราเห็นว่าวงมโนรมย์ เจ้าของเพลง ‘จั๊กกิ้มกับต๊กโต’ เซ็นสัญญาเข้าค่ายลูกทุ่งค่ายใหญ่แล้วกลายเป็นวง ‘ต๊กโต อาร์สยาม’, การมาถึงของแจ๊ส ชวนชื่น ในนามของวง ‘สปุ๊กนิก ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก’ ที่ทำให้ ‘แว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว’ กลายเป็นเพลงประจำชาติระดับข้ามปี, การแยกตัวของสมาชิกบางส่วนจากวง Teddy Ska จนกลายมาเป็นวง ‘ว.รัส’ ที่ทำเพลงออกมาได้น่าสนใจมาก รวมถึงการกลับมาสานต่อความสำเร็จของ Mocca Garden กับเพลง ‘ผมรักเมืองไทย’
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเชื่อว่า แม้กระแสเรกเก้สกาจะสร่างซาลงไปแค่ไหน แต่สุดท้ายจะไม่ตายไปง่ายๆ เหมือนวงจรชีวิตของยุงลายอย่างแน่นอน
