เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล: เสียงสะท้อนแห่งพระอัจฉริยภาพทางดนตรีในต่างประเทศ

เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล: เสียงสะท้อนแห่งพระอัจฉริยภาพทางดนตรีในต่างประเทศ

ใน พ.ศ. ๒๕๕๙ มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้แว่วเสียงแห่งวิปโยคโศกสลดได้สะท้อนกังวานในหัวใจของประชาชนชาวไทยโดยทั่วกันตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นมา เหตุการณ์นั้นคือการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช “พ่อหลวง” ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย

ทว่าท่ามกลางความโศกาอาดูรในหัวใจของชาวไทยทุกหมู่เหล่า หัวใจของพสกนิกรชาวไทยก็ยังพอคลายความหมองเศร้าลงไปได้บ้าง อันเนื่องด้วยมีการนำเอาบทเพลงพระราชนิพนธ์ในฉบับต่างๆ ทั้งที่ได้รับการเรียบเรียงในรัชสมัย และที่เพิ่งมีการเรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ เปิดให้ได้รับฟังตามสถานีวิทยุและสถานที่ราชการต่าง ตลอดจน มีการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระองค์มาจัดแสดงคอนเสิร์ตเพื่อน้อมรำลึกในพระพระมหากรุณาธิคุณ บทเพลงเหล่านี้นอกเหนือจากจะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีในฐานะศิลปินแล้ว บทเพลงอันไพเราะอันหลากหลายจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ช่วยประโลมจิตใจพอให้คลายบรรยากาศของความหมองเศร้าไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถอันเลิศล้ำในด้านดุริยางคศิลป์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่แต่เพียงเป็นที่ประจักษ์แจ้งโดยทั่วไปทั้งในประเทศไทยตั้งแต่ครั้งยังทรงพระชนม์ชีพ ทว่าพระเกียรติในทางดนตรีของพระองค์ในนานาประเทศ พระองค์ทรงสามารถเล่นเครื่องดนตรีสากลนานาชนิด ตั้งแต่เมื่อครั้งยังประทับศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงกับมีหนังสือพิมพ์อังกฤษและฝรั่งเศสหลายฉบับลงบทความเกี่ยวกับเรื่องพระมหากษัตริย์ไทยทรงดนตรีด้วยความทึ่งอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสพาดหัวหน้าหนึ่งและลงข่าวว่า

“กษัตริย์ไทยวัยหนุ่ม พระชนมายุยี่สิบพรรษาเศษ ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ทรงมีความสามารถในทางดนตรีอย่างน่าพิศวง”

“ในพระตำหนักมีเครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด แทบทุกคืนจะมีการร่วมวงดนตรีกับพระสหายประมาณ 6-7 คน ซึ่งโดยมากเป็นนักเรียนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ทั้งสิ้น”

“กษัตริย์หนุ่มทรงเล่นดนตรีได้แทบทุกชนิด บางเพลงที่มีทำนองเร็ว โปรดทรงทรัมเปตประทับยืนโยกพระวรกาย หงายพระพักตร์เข้ากับจังหวะของเสียงทรัมเปตกระโชกกระชั้นคล้ายกับนักดนตรีเอกผู้หนึ่ง คือจังหวะที่โน้ตบังคับให้ทรัมเปตต้องเล่นเสียงสูง พระองค์ก็เงยพระพักตร์ขึ้นสู่เบื้องสูง เอนพระวรกายไปทางเบื้องหลัง เสียงยิ่งสูง พระองค์ก็ยิ่งเอนหงายมากจนเสียงสูงจางหายไป แล้วก็กลับลงเสียงต่ำอย่างรวดเร็วไปตามทำนองของเพลง”

“พระอิริยาบถที่ทรงแสดงโดยไม่ขัดเขินนี้ ถ้าเป็นบุคคลสามัญ จะต้องเป็นนักดนตรีเอกของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย”

(อ้างถึงในหนังสือ ร้อยเรื่องในรอยจำ)

default column 1205x682 img

ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางการดนตรีนี้ นักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงหลายคนของสหรัฐอเมริกา ชื่นชมในพระปรีชาสามารถทางการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง เพราะทรงใช้เครื่องเป่าได้อย่างคล่องแคล่วทุกชนิด ดังเช่นคราวหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ระหว่างที่ทรงร่วมงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่วอชิงตันเพลส (Washington Place) ที่เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาอิ ทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญให้ทรงร่วมบรรเลงกับวงดนตรีที่แสดงถวายหน้าพระที่นั่ง พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยร่วมแสดงด้วยพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยม ทั้งที่ไม่ได้เตรียมพระองค์มาก่อนเลย สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานในวันนั้นอย่างยิ่ง

อนึ่ง พระองค์ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรีร่วมกับวงของนายเบนนี กูดแมน (Benny Goodman) ยอดนักดนตรีแจ๊สระดับโลกที่มหานครนิวยอร์ค ซึ่งทรงสามารถบรรเลงตอบโต้ได้อย่างครื้นเครงจนได้รับการถวายคำยกย่องในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีอัจฉริยภาพสูง นักดนตรีเอกของโลกได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีว่า หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องทรงเป็นพระราชานักดนตรีเอกของโลก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทั้งพระมหากษัตริย์และทรงเป็นนักดนตรีผู้มีความเป็นเลิศทางดนตรีได้พร้อมกัน

นอกเหนือจากนายกู๊ดแมนแล้วพระองค์ยังทรงเคยบรรเลงโต้ตอบกับศิลปินนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายท่าน อาทิ ไลออเนล แฮมป์ตัน (Lionel Hampton) แจ็คที การ์เดน (Jack Teagarden) แสตน เกตซ์ (Stan Getz) เบนนี คาร์เตอร์ (Benny Carter) และเมย์นาร์ด เฟอร์กูสัน (Maynard Ferguson) เป็นต้น การทรงดนตรีโดยมิได้เตรียมพระองค์มาก่อน การที่ทรงบรรเลงทำนองขึ้นอย่างฉับพลัน และการที่บรรเลงโต้ตอบกับศิลปินนักดนตรีแจ๊สผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายได้อย่าสนุกสนานเช่นนี้ แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพอย่างสูงยิ่งของพระองค์ และความเข้าพระทัยในดนตรีแจ๊สอย่างลึกซึ้ง พระเกียรติยศด้านดนตรีจึงปรากฏเลื่องลือไปทั่วสหรัฐอเมริกาและวงการดนตรีในประเทศต่างๆ

default column 1205x682 img

[พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงดนตรีโต้ตอบกับนักดนตรีต่างประเทศ]

default column 1205x682 img

[ภาพสื่อต่างชาติลงข่าวเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถในการแสดงดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว]

ทั้งนี้ พระอัจฉริยภาพในทางดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทรงดนตรีมิใช่แต่เพียงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวไทยและชาวต่างประเทศเท่านั้น หลายต่อหลายครั้งยังทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศได้อย่างดียิ่ง

ดังจะเห็นได้จากคราวที่พระองค์เสด็จประพาสประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา สเปน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ได้ทรงดนตรีกับวงดนตรีของประเทศนั้นๆ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญโดยที่มิได้เตรียมพระองค์มาก่อน ดังเช่นคราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรียในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ มีการแสดงดนตรีถวาย ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา วงดุริยางค์ซิมโฟนีออเคสตราแห่งกรุงเวียนนา (The Tonkünstler-Orchester Niederösterreich) ได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด มโนห์รา สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน และมาร์ชราชวัลลภ ไปบรรเลง

เมื่อเพลงแต่ละเพลงบรรเลงจบผู้ฟังพากันปรบมือกึกก้องยาวนานไม่หยุด จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงยืนขึ้นแสดงความชื่นชมยินดีทุกครั้ง สถานีวิทยุของรัฐบาลออสเตรีย ได้กระจายเสียงเพลงและเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศอีก ๒ วันต่อมา สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (Die Akademie fur Musik und Darstellende Kunst in Wein) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรชั้นสูงอันทรงเกียรติ ยิ่งแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงถวายพระเกียรติให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข ๒๓ และได้จารึกพระปรมาภิไธยบนแผ่นหินอ่อนของอาคารสถาบันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้เพื่อแสดงว่ามีพระอัจฉริยภาพ ทางดนตรีเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นชาวเอเชียบุคคลแรกที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๓๗ พรรษาเท่านั้น

default column 1205x682 img

[สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว]

จากพระอัจฉริยภาพนานัปการที่ทรงสรรค์สร้างประดับไว้ในแผ่นดินอันเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและคุณปการยิ่งทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล บทเพลงพระราชนิพนธ์ตลอดจนพระเกียรติยศทางด้านดนตรีและการบรรเลงดุริยางคศิลป์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะสถิตอยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทยและก้องเกริกเกรียงไกรไปทั่วทุกมุมโลกตราบนานเท่านาน

เอกสารอ้างอิง

ถวัลย์ มาศจรัส (๒๕๔๔). พระองค์คืออัครศิลปิน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ธารอักษร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ (๒๕๔๕). “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเพลงพระราชนิพนธ์”

วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๒๗ ฉบับพิเศษ ธันวาคม หน้า ๑๑๙-๑๒๑. (ฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา)

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (๒๕๕๔). อัครศิลปินแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ. วิลาศ มณีวัติ (๒๕๔๘). พระราชอารมณ์ขัน. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.

Related Content