เกร็ดความรู้คู่ประวัติศาสตร์ไทย จากละคร ‘บุพเพสันนิวาส’

เกร็ดความรู้คู่ประวัติศาสตร์ไทย จากละคร ‘บุพเพสันนิวาส’

ดังสุดฉุดไม่อยู่แล้วจริงๆ กับละครย้อนยุค ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่เป็นละครย้อนประวัติศาสตร์ของสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์มากมายที่น่าสนใจ เรามาดูเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่ารู้จากละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ กัน!

1. ละครบุพเพสันนิวาส อยู่ในช่วงไหนของสมัยกรุงศรีอยุธยา?

สมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.1893-2310 ซึ่งละครนี้น่าจะเริ่มเรื่องในปี พ.ศ. 2225 ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) และต่อเนื่องไปจนถึงสมัยพระเพทราชา (พ.ศ.2231 - 2246) และสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ.2246–2251)

default column 1205x682 img

2. คำว่า “ออเจ้า” ถูกใช้จริงในสมัยนั้น!

คำนี้ปรากฏอยู่ใน “จดหมายเหตุลาลูแบร์” (Du Royaume de Siam โดย Simon de la Loubère) ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับสรรพนามบุรุษที่ 2 กับสรรพนามบุรุษที่ 3 มีคำว่า เธอ (teu), ท่าน (tan), เอ็ง (eng), มัน (man) และ ออเจ้า (otcháou) “Otchaou” นั่นคือ ออเจ้า ใช้พูดกับผู้ที่ฐานะต่ำกว่า และซึ่งผู้พูดไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามมาแต่ก่อน ทั้งนี้ก็ไม่มีการบังคับใช้ว่าจะต้องใช้แบบที่ลาลูแบร์ระบุไว้เท่านั้น และปรากฏอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 ก็ได้เรียก เจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอกของรัชกาลที่ 3 ว่า “ออเรียม” ถือว่าคำนี้เป็นคำที่ชนชั้นสูงใช้กัน

3. มนต์กฤษณะกาลี มีจริงหรือไม่?

มนต์กฤษณะกาลี ไม่มีจริง เป็นแค่ชื่อที่แต่งขึ้นจากจินตนาการเท่านั้นค่ะ มีแต่ มนต์บูชาพระกฤษณะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นการพ้องชื่อกันโดยบังเอิญ ซึ่งไม่เกี่ยวอันใดกันเจ้าค่ะ

default column 1205x682 img

4. 5 บาท 10 บาท ของสมัยโบราณคืออะไรกัน?

เป็นการนับเวลาแบบโบราณ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน “บาท” มีความหมายอีกหนึ่งอย่างว่า ช่วงเวลาเท่ากับ 1 ใน 10 ของชั่วโมง เท่ากับ 6 นาที โบราณเขียนเป็น บาตร ก็มี เช่น ย่ำรุ่งสองนาลิกา เสษสังขยาห้าบาตร (ตะเลงพ่าย)

1 บาท = 6 นาที

5 บาท = 30 นาที

10 บาท = 60 นาที หรือ 1 ชั่วโมงนั่นเองค่ะ

default column 1205x682 img

5. คนสมัยกรุงศรีอยุธยา กินอะไรกัน?

สมัยนี้มีการติดต่อกับชาวต่างชาติ ทั้งตะวันตกและตะวันออกมากขึ้นกว่าสมัยสุโขทัย จากบันทึกที่เคยปรากฏ เขาว่า คนไทยกินอาหารเรียบง่าย มีปลาเป็นหลักเพราะหาได้ง่าย มีต้ม แกง และจะใช้น้ำมันมะพร้าวและกะทิ มีการถนอมอาหารด้วยการทำปลาตากแห้งหรือปลาเค็ม จะสังเกตได้ว่านิยมกินสัตว์น้ำมากว่าสัตว์บก และในสมัยนี้ก็จะมีวัฒนธรรมจากอาหารต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย

default column 1205x682 img

6. หมื่นสุนทรเทวา หรือ ขุนศรีวิสารวาจา

เป็นที่รู้จักในนามคุณพี่หมื่นของแม่การะเกด เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี พระมหาราชครูของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทบาทสำคัญในปี พ.ศ.2229 ได้รับเลือกเป็นตรีทูตของคณะทูตที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ประเทศฝรั่งเศส นำโดย ออกพระวิสุทธสุนธร หรือ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต

default column 1205x682 img

7. ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ “ราชินีแห่งขนมไทย”

ท้าวทองกีบม้า ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ทั้งคู่สมรสกันในขณะที่เธอยังอายุแค่ 16 ปี เท่านั้นเอง เรื่องที่โดดเด่นคือเรื่อง “ขนมไทย” ที่เชื่อว่าได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิดโดยดัดแปลงมาจากขนมโปรตุเกส ไม่ว่าจะ ฝอยทอง, ทองหยิบ, ทองหยอด ฯลฯ อย่าง ทองหยิบ ที่ท่านได้คิดค้นขึ้น สมัยก่อนเรียกว่า “ขนมทองกลีบม้า” สมัยก่อนขนมจะจับจีบเพียงแค่สามจีบเท่านั้น และ ขนมฝอยทอง ก็เรียกว่า “ขนมทองพยศ” ซึ่งขนมชนิดนี้ท้าวทองกีบม้าไม่ได้เป็นผู้รังสรรค์ อาจมีผู้ที่มีความรู้เรื่องอาหารสมัยนั้นที่คิดขึ้นมาและตั้งชื่อตามชั้นยศ อาจเป็นต้นห้องเครื่องที่ทำขนมอยู่ในวัง

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก BEC Tero, Ch3 Thailand, Wikipedia, จดหมายเหตุลาลูแบรฉบับสมบูรณ์: ราชอาณาจักรสยาม, FB Page: เพจหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์, รอมแพง

Related Content