Remaster ได้มันส์หยด “โธ่เอ๊ย” ใบเตย อาร์สยาม
ถ้าพูดถึงวงดนตรีสายแดนซ์ในช่วงยุค 90‘s – 00‘s ที่หลายคนมักโหยหาและพยายามคว้านหาตัวตายตัวแทนอยู่เสมอ ท่ามกลางความซบเซาของวงการเพลงไทยปัจจุบัน ชื่อของวงบาซู คือชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ด้วยท่าเต้นที่แข็งแรง ภาพรวมของวงที่มีความยูนีคและเต็มไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ทั้งจากเด๊บบี๊ พี่โจอี้ และกำปั้น รวมถึงเพลงที่ฮิตและติดหูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงที่สามารถทำให้ท่าเต้นกลายเป็นวาระแห่งชาติของกีฬาสีและงานโรงเรียนเกือบทั้งประเทศต้องเต้นตาม ก็คือ โธ่เอ๊ย

ในแง่โครงสร้างของดนตรีต้องบอกว่า โธ่เอ๊ย ของ Bazoo เล่นกับลูกเล่นส่วนผสมของดนตรีไทยลูกทุ่งและสากลได้อย่างพอเหมาะ ถ้าเรายังจำกันได้ ท่อนอินโทรของเพลงนี้ คือการนำเสียงโห่ร้องตามแตรวงในงานบวชมาใช้ได้อย่างแปลกและปัง ก่อนจะเข้าสู่ท่อนแรพที่เท่และเก๋ถึงที่สุด และตลอดทั้งเพลง เราจะได้ยินเสียงโห่เสียงกลองยาวรวมทั้งเสียงแตรวงเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาวะ Earworm และมันได้กลายเป็นลายเซ็นของเพลงไม่ต่างกับท่าเต้นที่น่าสนใจ รวมถึงส่งผลให้เพลงนี้ดูแตกต่างออกไปจากเพลงแดนซ์ในยุคนั้น
แต่พอมา โธ่เอ๊ย ในเวอร์ชั่นของสาวใบเตยที่ได้หนุ่มแจ๊ส ชวนชื่นมาร่วมแรพ เราพบว่าในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ยังนำเสน่ห์และแก่นความสำคัญของเวอร์ชั่นเก่ามาใช้ได้อย่างค่อนข้างดี เรายังได้ยินเสียงโห่ร้อง เสียงแตรวง เสียงกลองยาวในเวอร์ชั่นใหม่ แต่เมื่อฟังเพลงแบบลงรายละเอียดเข้าไปตามแต่ละตัวโน๊ต เสียงร้อง และเมโลดี้ เราจะพบความแตกต่างของทั้งสองเวอร์ชั่นอยู่พอควร

เสียงดนตรีสังเคราะห์ที่เป็นของฮิตสำหรับการทำเพลงในช่วงนี้ การใช้โครงสร้างของความเป็นลูกทุ่งเข้ามาอย่างจริงจัง ไม่ใช่ใช้แค่พาร์ทใดพาร์ทหนึ่งเท่านั้น และอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างถึงที่สุดก็คือเสียงร้องของเด๊บบี้และใบเตย ในเวอร์ชั่นต้นฉบับ เสียงของสาวเด๊บบี้คือการใช้เทคนิคการร้องแบบเพลงไทยสากลอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะลูกเล่นของความเป็น R&B ที่เป็นเทคนิคที่เด๊บบี้ชำนาญและเสียงของเธอก็เอื้อต่อการใช้เทคนิคนี้ แต่สำหรับเวอร์ชั่นใหม่ ท่อนฮุคที่ร้องโดยสาวใบเตย คือเทคนิควิธีการร้องแบบไทยลูกทุ่งอย่างแท้จริง ใบเตยขนมาหมดตั้งแต่เทคนิคการเอื้อน การเล่นลูกคอ การสะบัดเสียง และไดนามิคที่ให้บรรยากาศของลูกทุ่ง – แดนซ์ที่สาวใบเตยเองทำให้มันกลายเป็นของฮิตของทศวรรษนี้
ในส่วนของท่อนแรพ ก็พบว่ามีความแตกต่างอยู่เช่นเดียวกัน แต่จะไม่ชัดเท่ากับท่อนฮุค การแรพของโจอี้ซึ่งมีคำที่ชัด โฟลว์ที่เป๊ะ และเป็นเสียงแรพที่อยู่ในโทนเสียงต่ำ แต่สำหรับการแรพของแจ๊ส ชวนชื่น เราจะพบว่าแจ๊ส เป็นคนที่แรพแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเสียงของวัยรุ่นยุคนี้คุยกัน เป็นโทนเสียงที่เจืออารมณ์ความกวนประสาทผสมกับความอารมณ์ดี
และเมื่อฟังเนื้อเพลงดีๆ สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ก็คือการหยิบยกประเด็นที่กำลังเป็นกระแสของยุคนี้มาใช้ได้อย่างดูน่าค้นหา ตั้งแต่ประเด็นฝนตกแล้วน้ำท่วม ประเด็นการใช้โซเชียลมีเดีย จนถึงประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่แอบมีกิ๊กแต่ไม่ใช่ชู้ให้ชีวิตคู่ดูมีสีสันมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น โธ่เอ๊ย เวอร์ชั่นของสาวใบเตย ในปี 2017 จึงมีแค่สิ่งที่ยังยึดโยงอยู่กับเวอร์ชั่นของบาซู นั่นก็คือ อารมณ์สนุกสนานที่ทำให้คึกคัก เนื้อเพลงในท่อนฮุคและเมโลดี้บางส่วนในเพลง แต่โครงสร้างดนตรีที่ประกอบรายล้อม เทคนิคการร้องและการแรพ การพรีเซนต์ตัวตนของคนร้อง เราพบว่ามันคือการเปลี่ยนชีวิตและแต่งสีให้กับเพลงโธ่เอ๊ยขึ้นมาใหม่เลยทีเดียว

งานนี้ก็ไม่รู้ว่าคนที่เป็นแฟนคลับของวงบาซู หรือบรรดาแฟนเพลงยุค 90’s – 00’s จะถูกใจเพลงในเวอร์ชั่นใหม่ขนาดไหน แน่นอนว่าการเลือกหยิบเพลงที่โด่งดังมากๆ ในอดีตมาทำใหม่ที่เปลี่ยนเกือบจะหมดทุกอย่าง กลายเป็นเรื่องเสี่ยงที่ศิลปินหลายคนไม่กล้าทำกัน แต่เราก็ต้องยอมรับอยู่เหมือนกันว่า ท่ามกลางความร่วงโรยของวงการเพลงไทยในปัจจุบัน การหยิบจับสิ่งที่สุดยอดในอดีตมาเปลี่ยนภาพใหม่ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยปลุกกระแสให้แก่วงการเพลงไทยของเราได้ไม่มากก็น้อย
