ครบรอบ 25 ปี The Bodyguard รำลึก I Will Always Love You - Whitney Houston
ครบรอบ 25 ปีของภาพยนตร์สุดโรแมนติกว่าด้วย diva แสนสวยและ bodyguard สุดหล่อกับความรักที่ไม่มีทางเป็นไปได้ พร้อมเพลงประกอบภาพยนตร์ที่โด่งดังและตราตรึงใจผู้ชมไปทั่วโลก แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง “The Bodyguard” นำแสดงโดย Kevin Costner และ Whitney Houston
ครบรอบ 25 ปีทั้งที American Music Awards (AMA) ปีนี้ ก็เลยจัด tribute ให้กับ Whitney Houston พร้อมกับผลงานชิ้นเอกของ diva ผู้ล่วงลับ ส่วนศิลปินที่จะมา tribute ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก Christina Aguilera งาน AMA 2017 นี้จัดขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. หรือเช้าวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย
พูดถึง “The Bodyguard” ต้องนึกถึงเพลงนี้ที่ไม่ว่ากี่ยุคสมัยก็ไม่มีใครร้องได้ดีเท่า (และไม่น่าจะมีวันที่จะมีคนร้องดีเท่า) เป็นเพลงที่ใครจะมาสาย diva ขึ้นสูงแหกปากลากยาวต้องเคยฝึกร้องเพลงนี้มาแล้วทั้งนั้น (ถ้าไม่นับ I Have Nothing) นั่นคือ “I Will Always Love You” วันนี้คอลัมน์ของเราขอ tribute พื้นที่ให้กับเพลงนี้

ทำความรู้จักเพลง:
หลายคนน่าจะทราบแล้วว่า I Will Always Love You ต้นฉบับแต่งและร้องโดยคุณแม่ diva สาย country ที่ยังอยู่ยั้งยืนยงอย่าง Dolly Parton คุณแม่ Dolly แต่งเพลงนี้มอบให้ Porter Wagoner คู่หูทางดนตรีที่ร้องเพลงคู่กันมา 7 ปีก่อนที่คุณแม่จะขอแยกตัวไปเป็นศิลปินเดี่ยว ต่อมาเพลงนี้ก็ได้มาบรรจุอยู่ใน soundtrack ของ “The Bodyguard” และได้ David Foster เรียบเรียงเพลงนี้ใหม่เป็นฉบับที่เรารู้จักกัน

จะร้องเพลงนี้อย่างไร:
ความเข้าใจผิดของหลายคนเกี่ยวกับเพลงนี้คือ เพลงนี้ต้องพ่นไฟ!
จริง ๆ มันก็ใช่อยู่หรอก ว่าเพลงนี้ต้องใช้พลังในการร้องเยอะ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ที่เป็นสิ่งที่ Whitney Houston เหนือกว่า diva ทั่วไป คือ ความลื่นไหล (flow) นึกภาพตามว่าฉบับ cover ที่เราเห็นกันตาม Youtube หรือรายการประกวดร้องเพลง แทบทุกคนที่ร้องจะมีจังหวะตั้งสติ และร้องออกมาอย่างตั้งใจและจงใจจัดวาง ว่าฉันต้องฮิตโน้ตให้ถึง ฉันต้องลากเสียงให้ยาว ฉันต้องมีลูกคอ หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งกับ Whitney แล้ว ทุกอย่างที่กล่าวมา เกิดขึ้นอย่างลื่นไหล ดูไม่ต้องพยายาม (ทั้งที่จริงคือต้องใช้ลมปราณสูงมากและวรยุทธต้องแข็งแกร่ง) เสมือนแค่เปิดปาก ทุกอย่างก็ออกมา แต่จะทำแบบ Whitney ได้มีอยู่ 2 อย่างคือ ต้องเกิดเป็น Whitney หรือ ต้องเอาอยู่ในทุกกลวิธีการร้องที่จะใช้จนสามารถควบคุมได้อย่างลื่นไหล ดังนั้น concept ของการร้องเพลงนี้จึงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก ลื่นไหล
ความท้าทายอีกอย่างของเพลงนี้คือ จะพ่นไฟยังไงไม่ให้ไหม้ปากตัวเอง หมายความว่า ต้องยอมรับว่าฉบับของ Whitney คือทุกอย่างเหมาะเจาะพอดี ไม่ขาดไม่เกิน ซึ่งความไม่ขาดไม่เกินนี้แหละที่ทำยากเหลือเกินในเพลงนี้ เพราะอย่างที่บอก พอทุกคนโฟกัสว่าต้องพ่นไฟ พอ chorus รอบสุดท้ายทุกคนเลยอัดพลังเต็มที่ ผลคือ ทุกอย่างล้นและไม่ลื่นไหล แนะนำว่าให้ลองดู live performance เพลงนี้ของ Whitney (ยุคที่ยังเสียงดีและไม่เล่นยาหนัก) จะเห็นชัดว่า การร้องเพลงนี้ของ Whitney คืออิ่มพอดี ไม่เยอะเกินไป สง่างาม และตราตรึง ส่วนเรื่องอื่น ๆ คิดว่าไปแกะกันเองได้ ท่อนไหนหนักเบาสั้นยาว เสียงหลบ เสียงเต็ม โน่นนี่นั่น
โดยสรุป:
จะร้องเพลงนี้ให้ปังก็นับว่าเป็นความท้าทายหนึ่งในชีวิตของนักร้องสายนี้ เรื่องอื่นไปฝึกฝนกันได้ แต่การจะเอาอยู่ทุกกลวิธีการร้องของตัวเองเรียกว่าเป็นดั่งนิพพานของนักร้อง (ดังเช่นที่ Whitney ทำได้) ด้วยความที่กลวิธีการร้องแบบ Whitney หาคนทำตามได้ยากมาก นั่นเป็นเหตุให้ทำไม Whitney ถึงมีฉายาว่า The Voice พร้อมกับฝากผลงานไว้ให้โลกจดจำ ว่าครั้งหนึ่งเคย diva ที่เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นครู และเป็นทุกอย่างให้กับวงการดนตรีสากล ที่ชื่อ Whitney Houston
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Official Facebook ของ Whitney Houston
