ทำความรู้จักวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์
วง อ.ส. วันศุกร์ เป็นวงดนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งวงนี้จะบรรเลงเพลงผ่านสถานีวิทยุ อ.ส. ทุกๆวันศุกร์ ซึ่งการก่อตั้งวงและสถานีวิทยุนี้นั้น ใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง ข่าวสารต่างๆ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการที่พระองค์ทรงใช้สื่อสารกับประชาชนด้วย
ก่อนที่จะเป็น วง อ.ส. วันศุกร์ในปัจจุบันนี้นั้น เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และข้าทูลละอองธุลีพระบาท มาร่วมเล่นดนตรีทุกวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และได้พระราชทานนามว่า “วงลายคราม”
สมาชิก “วงลายคราม”
๑. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
๒. หม่อมเจ้าวิมวาทิตย์ รพีพัฒน์
๓. หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์
๔. หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล
๕. หม่อมเจ้าชุมปกบุตร ชุมพล
๖. หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร
๗. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
๘. หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์
๙. หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์
๑๐. หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์
๑๑. นายสุรเทิน บุนนาค
๑๒. เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตั้งสถานีวิทยุขึ้นและพระราชทานนามว่า “สถานีวิทยุ อ.ส.” ตามนามของพระที่นั่ง ซึ่งตัวอักษรย่อ อ.ส. ทรงนำมาจากคำว่า พระที่นั่งอัมพรสถาน และทรงโปรดเกล้าฯ ให้วงลายครามบรรเลงดนตรีออกอากาศทางสถานีวิทยุทุกวันศุกร์ด้วย
ต่อมาเรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เล็งเห็นว่าสมาชิกในวงลายครามส่วนใหญ่เป็นพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ทรงชราขึ้นจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตพานักดนตรีและนักร้องใหม่มาเล่นดนตรีถวาย หลังจากที่มีการเพิ่มนักดนตรีและนักร้องใหม่ วงลายครามจึงไม่ใช่วงลายครามแล้ว จึงได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วง อ.ส.วันศุกร์” ซึ่งตั้งตามชื่อ สถานีวิทยุ อ.ส.
Friday Night Rag : ศุกร์สัญลักษณ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Friday Night Rag หรือ ศุกร์สัญลักษณ์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๑ และพระราชทานให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นักดนตรีวงลายคราม ประพันธ์เนื้อเพลงภาษาอังกฤษและภาษาไทยถวาย ซึ่งมีเนื้อหาสนุกสนาน พูดถึงการมารวมตัวกันทุกวันศุกร์มาเล่นดนตรีร่วมกันเพื่อผ่อนคลายและได้บรรเลงออกอากาศครั้งแรกในสถานีวิทยุ อ.ส. ในปีนั้นอีกด้วย
บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่ง วง อ.ส. วันศุกร์ ได้มีส่วนในการช่วยเหลือประชาชนคือในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เกิดเหตุการณ์วาตภัย ที่แหลมตะลุมพุก วง อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงดนตรีออกอากาศเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ จึงเป็นที่มาของ “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ”