All about Rock! รู้จักร็อกให้ถึงราก
JOOX ขอชวนคุณมาร่วมเดินทางย้อนอดีตสำรวจความเป็นมาของดนตรีร็อกให้ถึงราก ให้รู้ลึกไปเลยว่า กว่าจะมาเป็นบทเพลงร็อกอย่างที่เรารู้จักและได้ยินกันมาจนถึงทุกวันนี้ ดนตรีร็อกมีพัฒนาการผ่านมาหลายยุคหลายสมัยจนแตกแขนงเป็นแนวทางต่างๆ อย่างไร พร้อมแล้วไป 5…4…3…2…1…Go!
1. Rockabilly

ศิลปินแนะนำ:
Chuck Berry, Jerry Lee Lewis, Little Richards, Bill Haley, Elvis Presley, Johnny Cash
นี่คือร็อกชนิดแรกสุดถือกำเนิดมาในโลก มาจากการผสมผสานของเพลงคันทรี่และดนตรีบูลส์ ในช่วงเเรกเป็นที่รู้จักในนาม Rock & Roll โดยมีราชาร็อคแอนด์โรลอย่าง Elvis Presley เป็นหัวหอกสำคัญ แต่เมื่อร็อกแตกแขนงออกมามากมาย ในภายหลังจึงตั้งชื่อร็อกสายนี้ว่า “ร็อกอะบิลลี่” นี่คือแนวดนตรีที่ฮิตสุดๆ ในช่วงครึ่งหลัง 1950’s ชนิดที่ว่าวัยรุ่นอเมริกันฟังกันทั้งบ้านทั้งเมือง
ลักษณะเฉพาะ:
กีต้าร์ไฟฟ้าแบบโบราณเสียงใสๆ เล่นสไตล์บลูส์ แต่จังหวะกลองสนุกสนานกว่า ส่วนเบส ต้องใช้ดับเบิลเบสเท่านั้นไม่งั้นสุ้มเสียงมันไม่ได้ บางทีเปียโนและเครื่องเป่าก็เอามาใช้ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี่เคล้าไปกับการร้องเสียงเหน่อๆ สไตล์บ้านนอกอเมริกัน ทำให้มันละม้ายคล้ายคลึงเพลงลูกทุ่งมากกว่าเพลงร็อกแบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้
2. British Invasion

ศิลปินแนะนำ:
The Beatles, The Rolling Stones, The Who, The Kinks
ณ ช่วงต้น 1960’s อังกฤษได้สร้างปรากฏการณ์บุกอเมริกาด้วยการนำทัพของ The Beatles และ The Rolling Stones พวกเขาเหล่านี้ได้ทำให้เกิดกระแสดนตรีร็อก และขนบของการฟอร์มวง อันประกอบด้วย มือกีต้าร์ มือเบส มือกลอง และนักร้องนำ อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้
ลักษณะเฉพาะ:
เสียงหลักของแนวทางนี้ มาจากกีต้าร์ไฟฟ้าต่อผ่านตู้แอมป์ Marshall สัญชาติอังกฤษ เร่งสัญญาณเพื่อให้ได้เสียงแตกอ่อนๆ พอๆ กับเสียงร้องนำ นี่น่าจะเป็นร็อกชนิดแรกที่ริฟฟ์กีต้าร์กลายมาเป็นพระเอกของเพลงร็อกถึงทุกวันนี้ เบสไฟฟ้าถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกและได้กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของดนตรีร็อกอย่างในปัจจุบัน วงดนตรีก็เป็นวงดนตรีจริงๆ ไม่ใช่ศิลปินเดียวที่มีวงแบ็คอัพแบบยุคร็อกแอนด์โรล เรียกได้ว่าบริติชอินเวชั่นเป็นกระแสดนตรีที่ทำให้เกิดวงร็อกที่มีองค์ประกอบแบบที่เราเข้าใจกัน ว่าต้องประกอบไปด้วยชื่อวงเท่ห์ๆ (โดยเฉพาะที่มีคำกว่า “The” นำหน้า) อันประกอบด้วย มือกีต้าร์ มือเบส มือกลอง และนักร้องนำ
3. Psychedelic Rock

ศิลปินแนะนำ:
The Grateful Dead, Jefferson Airplane, Pink Floyd (ยุคแรกตอน Syd Barrett ยังอยู่)
จากความนิยมยาหลอนประสาทในยุคกลาง 1960’s ของเหล่าฮิปปี้ ทำให้เกิดดนตรีร็อกแบบคนเมายาเพื่อคนเมายาอย่าง “ไซคีเดลิค” ร็อกล่องลอยที่ใช้เสริมบรรยากาศและจินตนาการการเสพยา
ลักษณะเฉพาะ:
ไซคีเดลิคร็อก มักทำดนตรีที่เน้นบรรยากาศโดยรวม มากกว่าองค์ประกอบย่อย ดังนั้นการไม่มีท่อนริฟฟ์กีต้าร์หรือท่อนร้องที่ติดหูจึงเป็นเรื่องปกติ เพราะส่วนใหญ่เพลงแบบนี้มีไว้เสริมจินตนาการการเสพยา ไม่ใช่เอาไว้ร้องหรือเต้นตาม ด้วยเหตุนี้เอง ได้ทำให้เครื่องดนตรีอย่างคีย์บอร์ดเริ่มมีบทบาท เพราะมันเป็นเครื่องดนตรีที่เอาไว้สร้างบรรยากาศได้อย่างดีเยี่ยม
4. Folk Rock

ศิลปินแนะนำ:
The Byrds, Bob Dylan (ยุคที่เล่นกีต้าร์ไฟฟ้า), Cat Stevens
ช่วง 1960’s อิทธิพลของดนตรีร็อกเข้าไปผสมปนเปกับดนตรีโฟล์ค ทำให้เกิดดนตรีร็อกที่เรียบง่าย ด้วยเครื่องดนตรีอะคูสติก มักจะนำด้วยกีต้าร์โปร่ง และใช้เครื่องประกอบจังหวะแบบง่ายๆ เล่นสไตล์รอบกองไฟกันไป
ลักษณะเฉพาะ:
โดยพื้นฐานแล้วโฟล์คร็อกก็ไม่ใช่อะไรนอกจากการเอาดนตรีโฟล์คมาเล่นด้วยเครื่องดนตรีร็อก แทนที่จะเล่นดนตรีกีต้าร์โปร่งและบรรดาเครื่องดนตรีอคูสติก ซึ่งหลายๆครั้งก็มีการเอากีต้าร์โปร่งมาเล่นกับเบสไฟฟ้าและกลองชุด นอกจากนี้ ก็ยังอาจมีการเพิ่มเสียงเครื่องดนตรีอะคูสติกอื่นๆ อย่างไวโอลินหรือเมาธ์ออร์แกน เพื่อการรักษากลิ่นอายความเป็นโฟล์คไว้อีกด้วย
5. Progressive Rock

ศิลปินแนะนำ:
King Crimson, Pink Floyd (ตั้งแต่ Dark Side of the Moon), The Moody Blues, Yes, Jethro Tull
นี่คือ หมวดหมู่ทางดนตรีร็อกที่น่าจะกว้างและหลากหลายที่สุด เพราะมันไม่มีรูปแบบตายตัว ดนตรีร็อกชนิดนี้ มักมีความสลับซับซ้อนไม่ว่าจะในเชิงเทคนิคหรือโครงสร้างดนตรี และในบางครั้ง เราอาจได้เห็นการเล่าเรื่องราวในเพลงโปรเกรสซีฟร็อกที่ยาวเป็นมหากาพย์ก็เป็นไปได้
ลักษณะเฉพาะ:
เป็นการยากจะบอกว่าอะไรที่วงโปรเกรสซีฟร็อกส่วนใหญ่มีร่วมกันมากกว่า “ความซับซ้อน” ไม่ว่าจะในตัวเพลงหรือในอัลบั้ม ซึ่งความซับซ้อนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคนิคที่ซับซ้อน แต่อาจเป็นโครงสร้างเพลงที่ซับซ้อนก็ได้
6. Hard Rock

ศิลปินแนะนำ:
Led Zeppelin, Deep Purple, Black Sabbath, Kiss, Ted Nugent
ฮาร์ดร็อกทำให้กีต้าร์ไฟฟ้าที่เล่นริฟฟ์แบบชัดเจนกลับมาเป็นพระเอกในดนตรีร็อกอีกครั้ง ตัวเพลงมักจะตรงไปตรงมาไม่ยืดยาวเยิ่นเย้อ และในความเรียบง่ายนี้ สิ่งที่ชี้ขาดว่าเพลงจะเด็ดไม่เด็ด คือท่อนริฟฟ์กีต้าร์นั่นเอง
ลักษณะเฉพาะ:
วงฮาร์ดร็อกตามขนบ มักประกอบไปด้วย กีต้าร์ เบส กลอง และนักร้องนำเท่านั้น ไม่มีมือคีย์บอร์ดหรือมืออื่นๆ ตัวเพลงมักจะมีความตรงไปตรงมาไม่ยืดยาวเยิ่นเย้อเหมือนโปรเกรสซีฟร็อก และในความเรียบง่ายนี้ สิ่งที่ชี้ขาดว่าเพลงจะเด็ดไม่เด็ดคือท่อนริฟฟ์กีต้าร์นั่นเอง
7. Glam Rock

ศิลปินแนะนำ:
T-Rex, David Bowie, Roxy Music, Slade, Alice Cooper, The New York Dolls
ถ้า “ใช้หูฟัง” อาจไม่ได้มีความต่างจากร็อกแบบอื่น แต่ถ้า “ดูด้วยตา” ก็จะเห็นทันที เพราะวงเหล่านี้มักจะมีการแต่งกายเเละคาเรกเตอร์ที่ชัดเจน แกลมร็อกมีอิทธิพลด้านภาพลักษณ์ของวงร็อกอย่างล้นหลาม เพราะต่อจากนี้ไปนักดนตรีร็อกไม่จำเป็นต้องเป็นตัวของตัวเองเสมอไป แต่จะสร้างตัวละครอะไรมาเล่นบทบาทบนเวทีก็ได้
ลักษณะเฉพาะ:
ถ้า “ใช้หูฟัง” แกลมร็อกไม่ได้มีความต่างจากร็อกแบบอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญเลย แต่ถ้า “ดูด้วยตา” ก็จะเห็นทันทีเพราะพวกนี้มักจะมีเสื้อผ้าหน้าผมที่โดดเด้งกว่าพวกวงรุ่นเดียวกัน
8. Punk Rock

ศิลปินแนะนำ:
The Ramones, Television, Richard Hell and the Voidoids, Sex Pistols, The Clash, The Buzzcock, The Damned
นี่คือยุคคืนสู่สามัญที่นักดนตรีบางส่วนหันกลับไปทำดนตรีร็อกแบบเรียบง่าย กีต้าร์ไม่มีท่อนริฟฟ์ซับซ้อน มีแต่ตีคอร์ดให้ดังสนั่นในโครงสร้างเพลงง่ายๆ โซโล่ก็ไม่มี เพลงก็สั้นๆ แหกปากร้องกันไป พังค์ร็อกถือกำเนิดมาแบบนี้นี่แหละ
ลักษณะเฉพาะ:
พังค์ร็อกยุคแรกมีความหลากหลายทางดนตรีก็จริง แต่จุดร่วมคือความพยายามกลับไปทำดนตรีร็อกแบบเรียบง่าย กีต้าร์ไม่มีท่อนริฟฟ์ซับซ้อน มีแต่ตีคอร์ด โซโล่ก็ไม่มี เพลงก็สั้นๆ โครงสร้างก็ง่ายๆ การร้องก็เน้นบ่นหรือตะโกนมากกว่าโชว์พลังเสียง ทำให้เกิดมาตรฐานทางดนตรีแบบใหม่ขึ้นมา และทำให้เกิดแนวดนตรีแยกยิบย่อยออกมาเต็มไปหมด
9. New Wave

ศิลปินแนะนำ:
Blondie, Talking Heads, The Police, The Cars, Duran Duran
นิวเวฟก็คือดนตรีพังค์ร็อกที่ถูกทำให้ป็อปและเป็นมิตรมากขึ้น เพื่อตอบรับอุตสาหกรรมดนตรี พวกเขาเป็นกลุ่มแรกๆที่นำเสียงสังเคราะห์เข้ามาใช้ในดนตรีร็อก เพื่อสร้างท่วงทำนองติดหู ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของเพลงป็อปร็อกมาตลอดยุค 1980’s
ลักษณะเฉพาะ:
จุดเด่นของนิวเวฟ คือการทำเพลงร็อกแบบที่ไม่ได้พยายามจะร็อกอีกต่อไป การไม่พยายามจะร็อก หมายถึงการละความหนักแน่นหนักหน่วงแบบร็อก แล้วทดลองใส่เสียงสังเคราะห์ไปในดนตรี บางครั้งก็มีการใช้ดรัมแมชชีนแทนกลองชุดด้วยซ้ำ สิ่งนี้เอง ที่ทำให้วงนิวเวฟหลายวงมีความก้ำกึ่งว่ามันเป็นวงร็อกหรือวงแดนซ์กันแน่ แต่ส่วนผสมของร็อกเป็นแดนซ์ได้แบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่แพร่หลายมาตลอด 1980’s
10. 80’s Heavy Metal

ศิลปินแนะนำ:
Van Halen, Motley Crue, Bon Jovi, Cinderella, Winger, RATT, Faster Pussycat, Guns N’ Roses
ดนตรีเฮฟวี่เมทัลสไตล์ 1980’s เป็นส่วนผสมของทั้งดนตรีฮาร์ดร็อกและร็อกแอนด์โรลจากยุคก่อนๆ แต่เล่นด้วยซาวน์ที่ทันสมัยขึ้น จากการถือกำเนิดของรายการเพื่อดนตรีเฮฟวี่เมทัลโดยเฉพาะอย่าง Headbangers Ball ใน MTV ปี 1987 ก็ช่วยสนับสนุนให้กระแสดนตรีสัญชาติอเมริกันนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ลักษณะเฉพาะ:
จริงๆ ดนตรีเฮฟวี่เมทัลสไตล์ 1980’s เป็นส่วนผสมของทั้งดนตรีฮาร์ดร็อกและร็อกแอนด์โรลจากยุคก่อนๆ แต่มาเล่นด้วยซาวน์ที่ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะกีต้าร์ ที่เวลานั้นกีต้าร์ไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ไม่เป็นที่นิยมอีกแล้ว เพราะไม่เหมาะในการเล่นด้วยความเร็วสูงหรือกระโดดโลดเต้นไปมาบนเวที ดังนั้นกีต้าร์ยุคนี้จึงจะเน้นความบางเบา ซึ่งเป็นเหตุทำให้เสียงเปลี่ยนไปด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือการที่บริษัทผลิตแอมป์เจ้าเก่าอย่าง Marshall ได้ออกรุ่น JCM800 มาในปี 1981 และวงฮาร์ดร็อกและเฮฟวี่เมทัลแทบทุกวงก็ใช้แอมป์รุ่นนี้มาตลอดยุค 1980’s ซึ่งก็พอจะพูดได้ว่าแอมป์รุ่นนี้ คือต้นตอของสุ้มเสียงกีต้าร์ร็อกแห่ง 1980’s ที่แท้จริง และบางทีก็จะเรียกเสียงกีต้าร์แบบนี้ว่าเสียงแบบ Classic Rock ทั้งนี้จุดจบซาวน์กีต้าร์ร็อกของยุค 1980’s ก็คือช่วงที่แอมป์รุ่นนี้เสื่อมความนิยมไปนี่เอง
11. Alternative Rock

ศิลปินแนะนำ:
Husker Du, Sonic Youth, Minutemen, R.E.M., The Smiths, The Stone Roses
วงอัลเทอร์เนทีฟ (จากอเมริกา) หรือ วงอินดี้ (จากอังกฤษ) เป็นดนตรีร็อกทางเลือกจากค่ายเล็กๆ ด้วยดนตรีของวงเหล่านี้เป็นร็อกที่ยังไม่อาจจัดประเภทได้ ทั้งยังมีสไตล์ของเพลงแตกต่างจากวงในยุคเดียวกัน เลยถูกเรียกรวมๆว่า “อัลเทอร์เนทีฟร็อก” นั่นเอง
ลักษณะเฉพาะ:
อัลเทอร์เนทีฟร็อกและอินดี้ร็อกมีจุดร่วมคือจะเป็นดนตรีร็อกทางเลือกจากค่ายเล็กๆ เนื่องจากวงเหล่านี้มีทิศทางดนตรีแปลกกว่าวงร่วมรุ่น ทั้งยังเป็นร็อกแบบที่จัดประเภทไม่ได้ในตอนนั้น แถมในหมู่วงดนตรีแต่ละวงที่แปลกๆ นี่ก็ไม่เหมือนกันไปอีก วงเหล่านี้เลยถูกเรียกรวมๆ ว่า “อัลเทอร์เนทีฟร็อก” ซะเลย
12. Grunge

ศิลปินแนะนำ:
Nirvana, Pearl Jam, Alice in Chains, Soundgarden, Mudhoney
“กรันจ์” เป็นคำเรียกดนตรีอัลเทอร์เนทีพร็อกสไตล์ซีแอตเติล ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ ส่วนผสมของความดิบและเรียบง่ายแบบพังค์ร็อกกับริฟฟ์แบบเฮฟวี่เมทัลแบบยุค 1970’s แน่นอนว่าเจ้าพ่อของสายนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Nirvana
ลักษณะเฉพาะ:
กรันจ์น่าจะเป็นดนตรีลูกผสมระหว่างดนตรีพังค์ร็อกกับเฮฟวี่เมทัลแนวทางแรกๆ ที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง ในทางดนตรีก็ใหม่ในฐานะของการเป็นส่วนผสมแบบที่กล่าวข้างต้น ซึ่งสำหรับแวดวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อก จะจัดว่ากรันจ์เป็นดนตรีอัลเทอร์เนทีพที่หนักที่สุด
นอกจากนี้ สิ่งที่กรันจ์ได้บุกเบิกและยังมีอิทธิพลมาถึงทุกวันนี้ ก็คือเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยการแสดงความหดหู่ของชีวิตและหมกมุ่นกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมาแบบที่ไม่เคยมีร็อกแขนงไหนทำกับอย่างจริงจังขนาดนี้มาก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่ากรันจ์เป็นดนตรีร็อกแขนงแรก ที่เข้ามาสำรวจความตึงเครียดของปัจเจกจริงๆ
13. Pop Punk

ศิลปินแนะนำ:
Greenday, NOFX, Pennywise, Rancid, Bad Religion, The Offspring, Blink 182, Sum 41
ป๊อปพังค์เป็นดนตรีแนวสนุกสนาน ติดหู ไม่ตึงเครียด ต่างจากพังค์ดั้งเดิมที่มักจะต้องมีกลิ่นอายทางการเมืองติดมาเสมอ แต่ป็อปพังค์กลับฉีกพังค์ออกจากการเมืองและทำให้มันกลับเป็นดนตรีบ้าๆ บอๆ ของวัยรุ่นดังที่พังค์เคยเป็นมาในช่วงก่อกำเนิด
ลักษณะเฉพาะ:
รากของดนตรีป็อปพังค์อาจจะต้องย้อนกลับถึงดนตรีของ The Ramones เพราะองค์ประกอบทั้งความบ้าบอ ความเรียบง่าย ความป็อปติดหู ก็มันอยู่ในนั้นหมดแล้ว แต่ป็อปพังค์ทำมันให้ทันสมัยขึ้นและแน่นอนว่าเล่นเร็วขึ้นอีกมาก และที่ป็อปพังค์ทำอย่างไม่ละอายก็คือเอาความติดหูกลับมาในดนตรีพังค์ พร้อมกับเอาดนตรีพังค์แท้ๆ อันเรียบง่ายกลับมานำเสนอให้ดนตรีกระแสหลักได้รู้จักนั้นเอง
14. Britpop

ศิลปินแนะนำ:
Oasis, Blur, Suede, Pulp, Supergrass, Radiohead, The Verve
เพลงจังหวะติดหูด้วยเมโลดี้สไตล์อังกฤษคือพื้นฐานของบริตป็อป ชื่อของบริตป็อปเป็นป็อปก็จริง แต่มันคือเพลงร็อกนี่แหละ หากเป็นร็อกจังหวะปานกลาง ที่เล่าเรื่องราวเคล้าเสียงกีต้าร์ไฟฟ้า โดยเน้นความไพเราะละมุนหูมากกว่าจะร็อกแบบหนักหน่วงเกรี้ยวกราด
ลักษณะเฉพาะ:
ชื่อของบริตป็อปเป็นป็อปก็จริง แต่ไม่ใช่เพลงป็อปแน่ๆ มันคือเพลงร็อกนี่แหละ แต่ไม่ใช่ร็อกแบบหนักหน่วงเกรี้ยวกราด หากเป็นร็อกจังหวะปานกลาง ที่เน้นเล่าเรื่องราวเคล้าเสียงกีต้าร์ไฟฟ้าสร้างบรรยากาศมากกว่า
15. Funk Rock

ศิลปินแนะนำ:
Red Hot Chili Peppers, Jane’s Addiction, Faith No More, Infectious Grooves, Living Colour
ฟังก์ร็อกก็คือการเอาดนตรีฟังก์มาเล่นในแบบร็อกด้วย กีต้าร์ เบส และกลอง สิ่งที่โดดเด่นมากของฟังค์ คือการเล่นเบสไฟฟ้าในสไตล์แบบใหม่ที่ใช้การ “ตบและเกี่ยว” และ วงดนตรีที่นำส่วนผสมนี้มาให้โลกรู้จักก็คือ Red Hot Chili Peppers
ลักษณะเฉพาะ:
ฟังก์ร็อกก็คือการเอาดนตรีฟังก์มาเล่นในแบบร็อก จังหวะกลองแบบฟังก์เป็นจังหวะขัดๆ ที่ปกติไม่ใช้กันในดนตรีร็อก การเล่นคอร์ดกีต้าร์ก็เป็นแบบฟังก์ แต่พอเอามาใส่เสียงแตกเข้าไปมันก็ดูร็อกขึ้นโดยอัตโนมัติ และยิ่งเล่นเบสสไตล์ฟังก์ไปอีก (อาจเอาเทคนิคหรือแค่จังหวะมาใช้ก็ได้) ก็ทำให้เกิดฟังก์แบบร็อกๆ ได้ โดยไม่ต้องมีวงดนตรีใหญ่โตเต็มไปด้วยเครื่องเป่าแบบฟังค์ของคนดำ
16. Nu-Metal

ศิลปินแนะนำ:
Korn, Deftones, Limp Bizkit, Slipknot, Linkin Park, P.O.D., Soulfly
“นูเมทัล” เกิดจากการทดลองทางดนตรีที่นำร็อกหนักๆ สารพัดจากโลกใต้ดิน ตั้งแต่เดธเมทัลยันฮาร์ดคอร์พังค์ มาผสมกับดนตรีสมัยนิยมของคนดำอย่างฮิปฮอป โดยมี Korn กับ Deftones เป็นผู้บุกเบิกแนวทางมาตั้งแต่กลางยุค 1990
ลักษณะเฉพาะ:
นูเมทัลจัดเป็นดนตรีร็อกที่มีลักษณะเฉพาะมาก เป็นแนวดนตรีกระแสหลักแรกๆ ที่บุกเบิกการตั้งสายกีต้าร์ต่ำกว่าการตั้งสายแบบปกติที่ใช้เป็นมาตรฐานในดนตรีร็อกมาเกือบ 50 ปี ทำให้ได้สุ้มเสียงที่ต่างจากดนตรีร็อกและเมทัลรุ่นก่อนโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้เอง ทำให้นูเมทัลต่างจากฟังค์ร็อกอย่างชัดเจน เพราะเสียงกีต้าร์จะดุดันกว่ามาก
เมื่อจังหวะกลองแบบดนตรีคนดำติดร็อก มาคลุกเคล้ากับริฟฟ์กีต้าร์เสียงต่ำแบบโยกๆ ปนกับเสียงร้องที่มีตั้งแต่การแร็ป ร้องเสียงหล่อ และร้องแบบกึ่งสำรอก (แล้วแต่วง) ทำให้ได้ดนตรีที่มีลักษณะลูกผสมข้ามแนวดนตรีออกมา จึงไม่แปลกที่ชุมชนคนฟังเมทัลจะยังไม่ยอมรับนูเมทัลเป็นเมทัลของแท้จนถึงทุกวันนี้
17. Emo

ศิลปินแนะนำ:
Jimmy Eat World, The Used, Saosin, My Chemical Romance
“อีโม” ถือกำเกิดขึ้นเมื่อวงพังค์ร็อกใต้ดินจำนวนหนึ่งพยายามนำเสนออารมณ์อื่นๆ เช่นความเก็บกดและสับสน เพื่อให้ฉีกไปจากความรุนแรงและเกรี้ยวกราดออกมาในเพลง ในแง่ภาพลักษณ์ ผู้คนมักจดจำนักดนตรีอีโมจาก วัยรุ่นไว้ผมเป๋ ทาขอบตาดำ สักเจาะทั่วร่างกาย และการแสดงความเจ็บปวดผ่านดนตรีที่ยังต้องคงความป็อปอยู่
ลักษณะเฉพาะ:
ในแง่ภาพลักษณ์ ผู้คนมักจดจำนักดนตรีอีโมจาก วัยรุ่นไว้ผมเป๋ ทาขอบตาดำ สักเจาะทั่วร่างกาย เมื่อบุคลิกแบบนี้ มาประสานกับความพยายามในการแสดงความเจ็บปวดผ่านดนตรีที่ยังต้องคงความป็อปอยู่ ก็ได้สร้างเอกลักษณ์ที่เด่นชัดให้กับดนตรีอีโม
18. J-Rock

ศิลปินแนะนำ:
X-Japan, L’arc~en~Ciel, Luna Sea, Penicillin, Glay, Dir en Gray, Sex Machineguns
กลุ่มวงดนตรีจากประเทศญี่ปุ่นที่แต่งกายคล้ายพวกแกลมร็อกของโลกตะวันตก แต่เล่นดนตรีเฮฟวี่เมทัลสารพัดแขนงปรากฎตัวขึ้นและถูกขนานนามว่า Visual Kei ซึ่งวงในกลุ่มนี้ที่เด่นที่สุด ได้แก่ X-Japan และ Jurassic Jade ความโด่งดังของกระแส Visual Kei ทำให้เกิดร็อกสไตล์ใหม่ในญี่ปุ่นที่เน้นการแต่งกายแบบหลุดโลกไม่จำกัดแนวทาง
ลักษณะเฉพาะ:
วงร็อกจากญี่ปุ่นที่จะถูกขนานนามว่าเป็น J-Rock โดยทั่วไปจะขาดการแต่งองค์ทรงเครื่องแสดงบทบาทไปไม่ได้ แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นคือ เราไม่สามารถจะเดาดนตรีของวงจากการแต่งกายได้เลย วงที่แต่งตัวคล้ายกัน วงนึงอาจจะเล่นป็อปร็อกใสๆ แต่อีกวงอาจจะเล่นหนักไปจนเกือบจะเป็นเดธเมทัล น่าจะเรียกได้ว่าไม่มีวงดนตรีใดในโลกที่จะผสมกันได้หน้าตาเฉยกันเป็นปกติแบบนี้ และส่วนผสมที่คาดเดาไม่ได้นี่ก็คือสเน่ห์ที่ทำให้คนนิยมชมชอบร็อกจากญี่ปุ่นเสมอมา
19. Thai Rock

ศิลปินแนะนำ:
อัสนี-วสันต์, นูโว, ไมโคร, หินเหล็กไฟ, Hi-Rock, Fly, Silly Fools, แมว จีระศักดิ์, Big Ass, กล้วยไทย
ดนตรีร็อกสัญชาติไทยเกิดขึ้นชัดๆ ช่วง 1980’s พร้อมกับอุตสาหกรรมเทปเพลง และคำว่า “จิ๊กโก๋อกหัก” ก็เป็นคำที่ใช้บรรยายเพลงร็อกแบบพาวเวอร์บัลลาดสไตล์ไทยๆ อันเป็นสไตล์เพลงร็อกแบบไทยที่ได้รับความนิยมที่สุด แม้เราจะเรียกรวมๆ ว่าร็อกไทย แต่จริงๆ เเล้ว ร็อกในไทยนั้นมีตั้งเเต่วงที่เป็นเฮฟวี่เมทัล นูเมทัล ไปจนถึงป๊อปร็อกใสใส ให้เลือกเสพตามรสนิยมผู้ฟัง
ลักษณะเฉพาะ:
ร็อกไทยไม่ได้มีเอกลักษณ์ให้โลกจดจำแบบร็อกญี่ปุ่น (จริงๆ ก็ไม่มีกี่ประเทศจะสร้างเอกลักษณ์ได้ขนาดนั้น) อย่างไรก็ดี เอกลักษณ์ของร็อกไทยก็น่าจะเป็นการนำวิธีคิดทางดนตรีแบบไทยๆ เข้าไปใส่ในดนตรีตะวันตกแบบที่ตะวันตกจะไม่ทำกัน อาทิ การทำเพลงรักโดยใช้ดนตรีแบบหนักๆ หรือทำดนตรีแบบโหดๆ แต่มีเนื้อหาสอนศีลธรรม เป็นต้น
20. Thai Alternative Rock

[ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์อรอรีย์จาก Manager Online]
ศิลปินแนะนำ:
Moderndog, อรอรีย์, Paradox, Student Ugly
หลังจากกระแสดนตรีอัลเทอร์เนทีฟเพื่องฟูขึ้นมาในอเมริกา ก็เริ่มมีนักดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสอัลเทอร์เนทีฟกันมากขึ้น โดยมีค่ายเพลงขนาดเล็กที่กล้าจะออกผลงานของวงที่เล่นดนตรีในแบบที่นอกเหนือไปจากดนตรีร็อกกระแสหลักของไทย แม้กระแสอัลเทอร์เนทีฟจะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็ได้กลายมาเป็นสุ้มเสียงแห่ง 1990’s ให้คนที่เติบโตมาในช่วงนั้นได้จดจำ และวงดนตรีจากยุคนั้นจำนวนไม่น้อยก็ยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ลักษณะเฉพาะ:
ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกของไทยมีลักษณะและภาพลักษณ์แทบไม่ได้ต่างจากในตะวันตก แต่น่าจะมีเอกลักษณ์สำคัญในบริบทไทยคือความไม่ได้ขัดเกลาของทั้งดนตรีและภาพลักษณ์ ผลก็คือทุกอย่างออกมาดิบๆ (แต่ไม่เถื่อน) ต่างจากดนตรีร็อกจากค่ายใหญ่ ที่ทุกอย่างจะถูกจัดสรรปั้นแต่งมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของวง หรือกระทั่งตัวเพลงที่มักจะถูกแต่งโดยนักดนตรีอาชีพ
