เกร็ด 9 ประการ ที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์

เกร็ด 9 ประการ ที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประพันธ์บทเพลงขึ้นถึง 49 ทำนอง พระองค์ทรงพระราชทานทุกบทเพลงเป็นของขวัญแด่ประชาชน บางบทเพลงเราคุ้นหูกันดี ในขณะที่บางท่วงทำนองอาจไม่เคยได้ยิน เราจึงอยากให้คุณสนุกไปกับเกร็ดที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ 9 เรื่อง ที่จะทำให้คุณฟังเพลงพระราชนิพนธ์ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

default column 1205x682 img

1. ในหลวงทรงนำเงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง รวมกับเงินที่สมเด็จพระชนนีพระราชทานอีกครึ่งหนึ่ง ไปซื้อแซ็กโซโฟนเครื่องแรกในชีวิต ซึ่งเป็นแซ็กโซโฟนมือสอง ราคา 300 ฟรังก์ และตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ขึ้น โดยสมาชิกนั้นได้แก่ พระองค์ (แซ็กโซโฟน) พระเชษฐา (คลาริเน็ต) และอาจารย์สอนดนตรี (แซ็กโซโฟน)

2. ทรงโปรดการตั้งชื่อเล่นให้เครื่องดนตรี อาทิ ทรงเรียกทรัมเป็ต กลูซานอง ว่า “คุณสนอง” แซ็กโซโฟน แซลเมอร์ ว่า “คุณเสมอ” ทรงเรียกเครื่องดนตรียามาฮ่า ว่า “คุณย่า” และทรงเรียกทรัมเป็ตที่จะนำไปชุบทองว่า “เจ้าเงาะ”

default column 1205x682 img

3. ในหลวงทรงพระปรีชาสามารถในการทรงพระราชนิพนธ์ และทรงดนตรีได้อย่างฉับพลัน ดังที่ปรากฏว่า ครั้งหนึ่งทรงหยิบซองจดหมายใกล้พระองค์มาเขียนทำนองเพลง เราสู้ ได้ทันทีขณะทรงปฏิบัติภารกิจ

4. เช่นเดียวกับเพลง พรปีใหม่ ที่ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์เพียงครึ่งชั่วโมง ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2494 และพระราชทานให้บรรเลงครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่พสกนิกรชาวไทย

5. แต่ถ้าพูดถึงเพลงที่ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์ทำนองเร็วที่สุด ต้องยกให้ เพลง Alexandra หรือ แผ่นดินของเรา ที่ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงนี้เพียง 10 นาที ณ สนามบินดอนเมือง เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนท์ สหราชอาณาจักร แล้วทรงส่งโน้ตนั้นให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์เนื้อร้องภาษาอังกฤษ

default column 1205x682 img

6. แสงเทียน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก (ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2489) และเพลงสุดท้ายที่ทรงแก้ไขโน้ตจนสิ้นรัชกาล เพราะทรงอยากให้เป็นเพลงที่ดีและเข้ากับยุคสมัย

7. นอกจากจะมี “ไก่” เป็นพระเอกในท่อนร้องที่ว่า “เพลิดเพลินฤทัย ฟังไก่ประสานเสียงกัน…” แล้ว ในหลวงยังทรงพระราชทาน เพลง ใกล้รุ่ง ให้วงดนตรีกรมโฆษณาการบรรเลงครั้งแรก ในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 อีกด้วย

8. ความหมายของอักษรย่อในเพลง H.M. Blues หรือชะตาชีวิต ไม่ใช่ His Majesty’s Blues อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่หมายถึง Hungry Men’s Blues

default column 1205x682 img

9. ไม่เพียงทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และพระราชทานเพลง ยิ้มสู้ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเพื่อให้กำลังใจผู้พิการทางสายตาเท่านั้น ในหลวงยังเสด็จเยี่ยมสอนดนตรี และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้พิการทางสายตาเป็นประจำ โดยใช้พระนามว่า พล ในการพูดคุยกับเด็กๆ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด

เชื่อว่าจากเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 9 ประการนี้ จะช่วยต่อยอดให้คุณอยากรู้เรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับ “เพลงของพ่อ” มากขึ้น เพราะนี่เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวอีกมากมาย ที่หากคุณลงมือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม คุณจะยิ่งค้นพบเกร็ดความรู้ใหม่ๆ ที่พ่อหลวงของเราทรงทำเพื่อปวงชนชาวไทยอย่างแน่นอน