ร้องเพื่อแม่ : ค่าน้ำนม - สุนารี ราชสีมา

ร้องเพื่อแม่ : ค่าน้ำนม - สุนารี ราชสีมา

12 สิงหา เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งกับวันแม่แห่งชาติ ปีนี้ลูก ๆ ทั้งหลายคงเตรียมของขวัญชิ้นพิเศษให้คุณแม่เช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นของชอบต่าง ๆ ของคุณแม่ หรือการพาแม่ไปกินอาหารอร่อย ๆ พาไปเที่ยว หรือใครที่มาทำงานต่างบ้านต่างเมือง แค่กลับบ้านไปกอดและบอกรักแม่ให้ชื่นใจแค่นี้ก็คงเป็นของขวัญชิ้นพิเศษแล้ว แต่สำหรับใครที่อยากให้ปีนี้ปัง เราขอเสนอให้คุณร้องเพลงบอกรักแม่ด้วยเพลงอมตะช่วงวันแม่ที่คุณจะได้ยินทุกปีตามโรงเรียน หรือได้ยินตามห้างสรรพสินค้าเวลาพาแม่ไป shopping นั่นคือ “ค่าน้ำนม”

default column 1205x682 img

ทำความรู้จักเพลง :

“ค่าน้ำนม” ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ครูเพลงขั้นเทพที่ฝากเพลงปัง ๆ ไว้มากมาย เช่น ฝนเดือนหก (ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ ๆ . . .), มนต์รักลูกทุ่ง (หอมเอย หอมดอกกระถิน . . .) และ มนต์รักอสูร (โอมเอย อย่าเป่ามาเลยมนต์รักอสูร . . .) แน่นอนว่าเพลงนี้ครูไพบูลย์ประพันธ์ให้กับมารดาของท่าน เสียงขับร้องต้นฉบับเป็นของ ชาญ เย็นแข ต่อมาก็มีอีกหลายฉบับจากศิลปินมากมายที่ร้องกัน สำหรับครั้งนี้ขอนำเสนอฉบับของ สุนารี ราชสีมา เพราะเป็นฉบับที่ไม่ค่อยเก่ามาก ด้วยวรยุทธของขุ่นแม่สุนารี เพลงนี้จึงน่าฟังยิ่งนัก

default column 1205x682 img

จะร้องเพลงนี้อย่างไร :

ความท้าทายอย่างหนึ่งที่นักร้องสมัยนี้จะไม่ค่อยเข้าใจคือ ทำไมคนยุคก่อนถึงแต่งเพลงเป็นประโยคยาวและต้องลากเสียงยาวขนาดนั้น (มันเป็นเรื่องของยุคสมัยและสไตล์) ตั้งแต่ประโยคแรกของเพลง (แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง) ต่อด้วยประโยคที่สอง (ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล) คิดดูสิว่า ประโยคก็ยาว จังหวะคำก็ยาว เสียงก็ต้องลาก อารมณ์ก็ต้องได้ หายใจก็ต้องให้พอ อย่างประโยคที่สอง อันที่จริงร้องให้จบด้วยลมหายใจเดียวก็จะดี แต่ถ้าไม่ไหว อาจแบ่งจังหวะให้หายใจได้บ้าง (ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลัง - หายใจ - เมื่อยังนอนเปล) แล้วมันจะเป็นแบบนี้ทั้งเพลง ทุกท่อน คือ ประโยคยาว ทำนองก็ยาว ลมหายใจก็ต้องยาวตาม มีโน้ตสูงสุดของเพลงอยู่ตรงท่อนแยก (ควรคิด - พินิจ - ให้ดี . . .) ระวังกันด้วย

ถ้าคิดว่านั่นท้าทายแล้ว มีอีกสิ่งที่ท้าทายกว่า คือ การเอื้อน แน่นอนว่านี่คือเพลงไทย! ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์กำกับในพยางค์ แปลว่า แต่ละพยางค์ เมื่อเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยน ความหมายเปลี่ยน (เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า) ความไพเราะของภาษาที่มีวรรณยุกต์กำกับ คือการไหลเสียงวรรณยุกต์ล้อไปกับทำนองเพลง กับเพลง “ค่าน้ำนม” ถ้าคิดการเอื้อนไม่ออก ให้ฟังที่ขุ่นแม่สุนารีเอื้อนไว้ เพราะขุ่นแม่เอื้อนละเอียด เก็บแทบทุกคำ (เช่นท่อน โอ้ว่าแม่ - จ่า อา อ๋า - ลูกคิดถึงค่าน้ำนม . . . )

โดยสรุป :

จะร้องเพลงนี้ให้ปังเนี่ย อันที่จริงก็แค่ร้องออกมาจากความรู้สึก เราเชื่อว่าความรักที่เราได้รับจากแม่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเติบโตมาเป็นผู้เป็นคนได้ในวันนี้ ลูก ๆ ต่างรู้อยู่แล้วว่าแม่ของตัวเองเจ๋งแค่ไหน ความรู้สึกขอบคุณและความรักที่เราจะตอบแทนให้ ก็ใส่มันไว้ในเพลงนี้ในวันที่ร้องเพลงนี้ให้แม่ฟังนี้สิ ขอจบตามขนบหน่อยว่า วันแม่มีแค่วันเดียวในทุกปี แต่เราไม่ต้องรอให้ถึงวันแม่เพื่อบอกรักแม่นะจ๊ะ

default column 1205x682 img